หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
(หลักสูตรปรับปรุง
พ.ศ. 2565)
ชื่อสถาบันศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
คณะ/สถาบัน/สำนัก คณะมนุษยศาสตร์
ชื่อหลักสูตร
ภาษาไทย: หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
ภาษาอังกฤษ: Bachelor of Arts Program in Children’s
Literature
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ภาษาไทย
ชื่อเต็ม: ศิลปศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา)
ชื่อย่อ: ศศ.บ. (สารสนเทศศึกษา)
ภาษาอังกฤษ
ชื่อเต็ม: Bachelor of
Arts (Information Studies)
ชื่อย่อ: B.A. (Information Studies)
รูปแบบของหลักสูตร
หลักสูตรระดับปริญญาตรี
4 ปี
ปรัชญาหลักสูตร
สารสนเทศศึกษานำไปสู่การจัดการสารสนเทศอย่างสร้างสรรค์เพื่อสังคมในยุคดิจิทัล
ความสำคัญของหลักสูตร
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
(หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560)
เป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีของศูนย์การศึกษาระดับปริญญาตรี คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ที่ปรับเปลี่ยนมาจากสาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
ดำเนินการสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 จนถึงปีการศึกษา 2564
โดยเริ่มใช้หลักสูตรตั้งแต่ภาคการเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 และจะครบวาระที่ต้องปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย
เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานเพื่อให้ทันการใช้ในปีการศึกษา 2565
ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
การเปลี่ยนแปลงจากสภาวะการณ์โลกในปัจจุบันที่มาเยือนแบบไม่ทันตั้งตัว
ส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที
จากวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลให้เกิดการแพร่กระจายของเทคโนโลยีในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
ซึ่งกระทบต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน ธุรกิจ รวมถึงเศรษฐกิจ
ผู้คนต้องพัฒนาทักษะเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในยุค Disruptive Technology ที่มีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดผลกระทบอย่างรอบด้าน
สารสนเทศมีความหลากหลายและปริมาณเพิ่มมากขึ้น
องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต้องศึกษาและสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับตัวให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในองค์กรสารสนเทศ เช่น การนำ Artificial
Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้ในการรวบรวม จัดเก็บ
ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศ
การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการสารสนเทศที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นโยบายปฏิรูประบบอุดมศึกษาของรัฐบาล (Reinventing
University) ได้ปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานอย่างก้าวกระโดด
มีลักษณะการบูรณาการแบบข้ามศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ในหลากหลายมิติ
สนับสนุนผลลัพธ์การเรียนรู้ตามความต้องการของตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน
รวมทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580
ได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ
จึงต้องเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ มุ่งเน้นการพัฒนาคนทุกช่วงวัย
เพื่อให้คนไทยเป็นคนดี คนเก่ง มีระเบียบวินัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
พัฒนาศักยภาพคนเพื่อเป็นฐานการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและรองรับตลาดงาน
โดยการยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่
21
เสริมสร้างบทบาทของสถาบันทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมในการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในสังคม
การเปลี่ยนแปลงรวมทั้งยุทธศาสตร์การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ดังกล่าวจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีเชี่ยวชาญในเรื่อง
การจัดการสารสนเทศ การบริการสารสนเทศ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การพัฒนาหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ
การทำงานในวิชาชีพ พร้อมปรับตัว
และการจัดการเรียนการสอนให้เข้าถึงการทำงานในสภาพแวดล้อมจริง
ดังนั้นการออกแบบหลักสูตรจึงใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบโมดูล (Module System) หรือระบบบล็อก (Block System) ซึ่งนิสิตจะได้รับความเชี่ยวชาญที่จะทำการฝึกประสบการณ์ในองค์กรสารสนเทศเพื่อผลิตบัณฑิตให้พร้อมทำงานได้ในสถานการณ์จริง
วัตถุประสงค์หลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณลักษณะ
ดังนี้
1. มีคุณธรรมจริยธรรมทางวิชาชีพ และจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม
2. มีทักษะการรู้สารสนเทศเพื่อพัฒนาตนเองและผู้อื่นให้สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
3. มีความรู้ความสามารถในการจัดการสารสนเทศในองค์กรต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม
จุดเด่นของหลักสูตร
นิสิตหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา
1. เน้นการเรียนการสอนรายวิชาเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งวิชาเอกบังคับและวิชาเอกเลือก
2. จัดให้มีการเรียนการสอนรายวิชาการวิจัยพื้นฐานสำหรับวิชาชีพสารสนเทศ
3. นิสิตจะได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพสารสนเทศทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
บัณฑิตหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาสารสนเทศ
1. บัณฑิตมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดเก็บและค้นคืนสารสนเทศ
2. บัณฑิตมีความสามารถในการทำรายการและจัดหมวดหมู่ทรัพยากรสารสนเทศ
3. บัณฑิตสามารถนำความรู้เกี่ยวกับการวิจัยไปใช้เพื่อการวิจัยกับศาสตร์อื่นได้
4. บัณฑิตสามารถบูรณาการศาสตร์
และนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาชีพที่ประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
1. บรรณารักษ์ (Librarian)
2. นักสารสนเทศ / เจ้าหน้าที่สารสนเทศ / นักเอกสารสนเทศ (Information Professional)
3. ผู้จัดการเนื้อหาดิจิทัล (Digital Content Manager)
4. นักเทคโนโลยีสารสนเทศ/เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ
(IT Officer)
5. นักออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ (Web Designer / Developer)
6. นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst)
7. นักวิเคราะห์ระบบสารสนเทศ (Information System Analyst)
8. ผู้สนับสนุนการใช้ระบบสารสนเทศ (IT Support)